การปรับตัวเข้าสู่ยุค 4.0 ดูจะกลายเป็นหัวข้อการเปลี่ยนแปลงของทุกกลุ่มสังคม กลุ่มองค์กรของประเทศไทยเลยก็ว่าได้ การเปลี่ยนแปลงไปสู่ยุค 4.0 นั้นได้กระตุ้นให้องค์กรเหล่านั้นปรับตัวเอง เพื่อให้ทันกับโลกและยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในบ้านเรา ห้องสมุดเองก็เป็นหนึ่งหน่วยงานในระดับองค์กรที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อเข้าสู่ยุค 4.0 ดังกล่าว
มาดูกันว่า ห้องสมุดยุค 4.0 ต้องเตรียมตัวอย่างไรกันบ้าง
การเข้าถึงข้อมูล อิเล็กทรอนิกส์
สิ่งแรกหากจะนึกถึงคำว่า ห้องสมุดยุค 4.0 นั่นคือ การเข้าถึงข้อมูล สารสนเทศ หรือ หนังสือต่างๆ จากเดิมที่เราเคยอ่านหนังสือเป็นเล่มๆ อาจจะต้องนำข้อมูลเป็นเล่มเหล่านั้นขึ้นมาอยู่ในรูปแบบดิจิตอล รูปแบบอ่านออนไลน์มากขึ้น เพื่อทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้น จะว่าไปก็เหมือนกับการยกห้องสมุดมาไว้บนโลกอินเตอร์เน็ตนั่นเอง หากใครต้องการอ่านหนังสือเล่มไหนก็สามารถดาวน์โหลดไปอ่านได้เลย เป็นการกระจายโอกาส ความรู้อย่างเท่าเทียมกัน
การเพิ่มสารสนเทศอิเล็กทรอนิกส์
ไม่เพียงแต่การเปลี่ยนรูปแบบสารสนเทศ แบบเดิม(หนังสือ) มาสู่รูปแบบอ่านดิจิตอบ E-books เท่านั้น การเพิ่มหนังสือ วารสารประเภทอื่นๆในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ก็ต้องมีด้วย ห้องสมุดอาจจะต้องมีการบอกรับสมาชิกวารสารอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้บริการกับคนที่ใช้อินเตอร์เน็ตในบริเวณห้องสมุดด้วย เพื่อให้คนมาใช้ห้องสมุดสามารถอ่านหนังสือได้หลากหลายมากขึ้น แต่เดิมคนอาจจะมานั่งห้องสมุดเพื่ออ่านหนังสือพิมพ์ อนาคตคนอาจจะอ่านหนังสือพิมพ์เหมือนเดิม แต่เป็นอ่านจากหนังสือพิมพ์ดิจิตอลที่ดาวน์โหลดผ่านบริการของห้องสมุดก็ได้
การเพิ่มบริการแบบอิเล็กทรอนิกส์
การให้บริการห้องสมุดยุค 4.0 เองก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนเหมือนกัน แต่เดิมอาจจะมีการตั้งจุดบริการค้นหาหนังสือ จากคอมพิวเตอร์ในห้องสมุดอย่างเดียว ก็อาจจะต้องมีแอพพลิเคชั่นให้เราสามารถค้นหาหนังสือ หรือ จองหนังสือ จากภายนอกได้เลย เมื่อเวลาเราไปห้องสมุดแล้วก็สามารถเข้าไปยืมหนังสือตามต้องการได้เลย ไม่ต้องเสียเวลาไปค้นหาอีก หรือการคืนหนังสือ อาจจะคืนผ่านตู้ฝากคืนหนังสือ แล้วสแกนคิวอาร์โค้ด เพื่อยืนยันการคืนหนังสือได้เลย ทำให้เราสามารถคืนหนังสือภายนอกเวลาปิดเปิดของห้องสมุดได้เลย ไม่ต้องเสียเวลาไปรอบรรณารักษ์ รวมถึงบริการห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์รูปแบบอื่นในอนาคต
การเพิ่มฐานผู้รับบริการ
ห้องสมุดยุค 4.0 อาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนพื้นที่การให้บริการห้องสมุด จากเดิมอาจจะไม่ค่อยมีพื้นที่ให้คนพิการมากนัก อาจจะต้องเปลี่ยนพื้นที่ตรงนี้ให้กับคนพิการให้สามารถเข้าถึงเนื้อหา หนังสือ ความรู้ได้มากขึ้น หรืออาจจะมีการจัดกิจกรรมการฝึกอาชีพด้านๆต่าง เพื่อยกระดับจากห้องสมุด เป็นแหล่งเรียนรู้ แหล่งสร้างอาชีพให้กับชุมชนในบริเวณนั้นได้ด้วย นับว่าการปรับตัวของห้องสมุดให้เป็นห้องสมุด 4.0 นั้นอาจจะเป็นเรื่องใหญ่ แต่ทำได้แน่นอน